Translate

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

อธิบดีกรมอาเซียน อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร ในวันที่ AEC เป็น ฮอต อิชชู


อธิบดีกรมอาเซียน อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร ในวันที่ AEC เป็น ฮอต อิชชู


โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช วรวีร์ บำรุงพงศ์ ภาพ




นาทีนี้ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อม ก่อนรื้อรั้วบ้านเป็นรั้วเดียวกันกับเพื่อนบ้าน 10 ประเทศในอาเซียน ชื่อของ "กรมอาเซียน" เหมือนถูกแสงไฟสาดจับ 

แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่คึกคักนี้ ยังคงคุกรุ่นด้วยความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ โดยเฉพาะในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ นั่นเพราะแดนดินถิ่นนี้ไม่เพียงเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงจากจีนไปอินเดีย ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ว่ากันว่าใต้ชั้นดินในทะเลจีนใต้มีน้ำมันดิบมากกว่า 200,000 ล้านบาร์เรล และก๊าซสำรองที่ใช้ได้นานถึง 60 ปี จึงเป็นชนวนความขัดแย้งของหลายคู่กรณี

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาชื่อของกรมอาเซียนแทบไม่เป็นที่รู้จัก เพราะทำงานอยู่ใต้ร่มกระทรวงการต่างประเทศ 

"เมื่อก่อนถือเป็นหน่วยงานหนึ่งระดับกอง และเรามาพัฒนาในระดับกรม แต่เรามีอายุประมาณ 40 ปี หลังเปิดอาเซียนสัก 5 ปี" รท.อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน คนปัจจุบัน บอก

"เพียงแต่ว่าในช่วง 25 ปีที่แล้วเป็นเรื่องของการเมือง คนไม่สนใจ เพิ่งมาสนใจเมื่อมันมีมิติของเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา ก็มาตื่นตัว แต่เมื่อก่อนปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นคนดำเนินการ"

เวลาที่เหลืออยู่อีกไม่ถึง 3 ปีต่อจากนี้ กรมอาเซียนจึงรับบทหนัก ทั้งเดินสายบรรยายให้ความรู้ และผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมความพร้อมองค์กร ให้ขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันก็พยายามจับคู่เจรจามากระตุ้นการเจริญเติบโตในกรอบอาเซียน

อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อายุ 50 ปี เป็นลูกชายคนกลางในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของคุณพ่อศรียนต์ ข้าราชการบำนาญชาวเชียงใหม่ กับคุณแม่บังอร ศรีสมุทร ชาวเชียงราย มีพี่ชาย 1 คนคือ นายไศลยนต์ ศรีสมุทร ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย กับน้องสาว 1 คน คือ นางศุภลักษณ์ ไกรฤกษ์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอนเมาท์ มลรัฐอิลลินอยส์ ปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ เอกนโยบายเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันสมรสแล้วกับนางกมลทิพย์ แต่ไม่มีบุตร

ก่อนจะมาถึงวันนี้ อรรถยุทธ์เคยรับราชการทหารติดชั้นยศ "เรืออากาศโท" กองข่าวสำนักบัญชาการทหารสูงสุด

นอกจากนี้ยังผ่านการทำงานกรมการเมือง กรมเศรษฐกิจ กรมอาเซียน กรมยุโรป สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ คณะทูตถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา 

ล่าสุด ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 

"ผมอยู่มาหลายกรม แต่อยู่กรมอาเซียนนานที่สุด ประมาณ 15 ปี" 

บรรทัดต่อจากนี้มาฟังบทบาทของกรมอาเซียน ทั้งกับประเทศไทยเองและกับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

- บทบาทของกรมอาเซียน?

เราอยู่ในคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ 1.ขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดูใน 3 เสา ให้มีในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีเรื่องของการปรับเปลี่ยนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน แต่รายละเอียดในเรื่องของสาระก็ไปดูกันเอง 2.เราติดตามข้อมูลแรงงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรมีแผนงานอะไรก็ส่งมาให้กระทรวงการต่างประเทศ เราจะได้มาบูรณาการร่วมกัน ตอนนี้ที่เราพยายามเสนอแนะคือ ให้สภาพัฒน์เข้ามามีส่วนร่วมช่วยทำแผนในระดับชาติ 

กรมอาเซียนเป็นกรมที่ไปประชุมในเวทีต่างประเทศ นี่เป็นกรมที่ปฏิบัติ เราทำมาแล้ว มาเล่าให้คนอื่นทำ ขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเผยแพร่ข้อมูล เพราะเราคิดว่าเราเป็นองค์กรที่รู้ข้อมูลในภาพรวม เราสามารถให้คำแนะนำได้

- ที่ผ่านมาเหมือนไม่ค่อยมีบทบาท? 

อาเซียนความร่วมมือในช่วง 25 ปีแรก เน้นในเรื่องของการเมืองและความมั่นคงเป็นหลัก เรื่องของสงครามเย็น เรื่องของสงครามเวียดนาม เรื่องกัมพูชา พอเป็นเรื่องการเมือง ไม่มีใครสนใจ เพิ่งมาให้ความสนใจเมื่อมีมิติของเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา ดูว่าจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร กลัวว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงานทำ กลัวของที่เข้ามาราคาถูก หรือจะซื้อของคุณภาพต่ำ หรือกลัวว่าจะไปต่างประเทศแล้วไม่รู้กฎระเบียบอะไร ก็มาตื่นตัว แต่เมื่อก่อนปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นคนดำเนินการ แต่จริงๆ กรมอาเซียนมีบทบาทมานานแล้ว 

- ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน เสาไหนไปไกลสุด?

ณ ตอนนี้เป็นเสาเศรษฐกิจ เพราะเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ในระดับความเป็นอยู่ การทำงาน และความท้าทายที่เกิดขึ้นที่เข้ามาในประเทศ 

ผมคิดว่าในอนาคตจะต้องให้ความสนใจในเรื่องของสังคมและนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น เพราะว่าความร่วมมือของอาเซียนทั้งหมดมีเป้าหมายที่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนที่ดีขึ้น ในเรื่องของการศึกษา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน เราจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้ามาอยู่ในเวทีการตัดสินใจของอาเซียน ทำอะไรผลประโยชน์ต้องเห็นชัดว่าไปสู่รากหญ้า ตามชายแดนจะต้องได้รับผลกระทบอย่างไร ถ้าแรงงานต่างประเทศเข้ามาเยอะ แต่ทั้ง 3 เสานี้ต้องไปด้วยกัน 

- ชายแดนตื่นตัวแค่ไหน?

ชายแดนก็ตื่นตัวขึ้น... สังคมปัจจุบันคนที่ตื่นตัวคือ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล มีการสำรวจเมื่อไหร่ (ทำโพล) ความรู้ของคนไทยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับต่ำ ในเรื่องของภาษา ในเรื่องของข้อมูลก็อยู่ในระดับต่ำ 

ประเทศไทยไม่เคยมองประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่าเขาด้อยกว่า หรือระดับพัฒนาต่ำกว่า ไม่เคยไปดูละครของกัมพูชาหรือของลาว หรือสนใจภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศเพื่อนบ้านสนใจเรื่องของเรามาก ดูละครไทย ดูข่าวไทย เขาฟังภาษาไทย พูดชัด แล้วเขารู้เรามากกว่าเรารู้เขา ซึ่งมันก็จะเป็นปัญหาในอนาคต ถ้าเปิดชายแดนจะเป็นอย่างไร ในเมื่อเราไม่รู้จักอะไรเขาสักอย่าง แต่เขารู้จักเราทุกอย่าง 

- ต้องทำอย่างไร?

ตอนนี้เราก็ออกสื่อ ที่ผ่านมามีการจัดบรรยาย จัดอบรมครูอย่างที่ทำเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา อบรมครู กทม. 500 คน และที่จะอบรมครูทั่วประเทศที่พัทยาในเดือนสิงหาคมนี้อีก 500 คน ตอนนี้ก็พยายามจะออกสื่อวิทยุชุมชน แล้วก็มีทำสื่อวิดีโอ เกมส์ เรากำลังจะคุยกับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากที่ตอนนี้ทำเป็นหนังสือ จะพัฒนาเป็นสื่อบนแท็บเล็ต คือต้องฝากความหวังไว้กับเยาวชน 

- เราตื่นตัวช้าไปมั้ย?

ไม่ช้าครับ เพราะการรวมตัวเป็นประชาคม จะมีการรวมตัวไปเรื่อยๆ ปีนี้มากขึ้น แล้วปี 2558 ไม่ใช่จุดที่ว่าประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ยังจะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย อาจจะมีการตั้งเป้ากันอีก มีการรวมตัวในเชิงลึกมากขึ้นและครอบคลุมสาขามากขึ้น 

- ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญบนเวที?

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนายกรัฐมนตรีก็ไปพูดเรื่องความสำคัญในการปราบปรามยาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นนโยบายของประเทศ โดยประเทศไทยจะเป็นตัวกลางที่จะผลักดันให้มีปฏิญญาอาเซียนในเรื่องนี้ ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลอดจากยาเสพติดภายในปี 2015 

เราจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด เราจะจัดการประชุมที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2555 

เรื่องภัยพิบัติก็สำคัญ ปีหน้าเราจะร่วมมือกับเกาหลีใต้ในเรื่องนี้ เรามีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลี กับญี่ปุ่น กับสหรัฐอเมริกา ทั้ง 3 ประเทศนี้แม้ไม่ได้อยู่ริมน้ำโขง แต่มีวิทยาการ มีเงินที่จะสนับสนุน 

แล้วยังต้องมาดูพื้นที่ตามชายแดนให้มีความแข็งแรง ทำอย่างไรจะไม่มีเรื่องยาเสพติดเข้ามา เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเข้ามา เรื่องหมอกควัน เรื่องความยากจนที่จะเข้ามา แต่เราพยายามจะดึงคู่เจรจามากระตุ้นการเจริญเติบโตในกรอบอาเซียน คือความร่วมมือของกรอบอาเซียนก็ทำไป แต่เราต้องการกระตุ้นให้มีประเทศคู่เจรจาเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในระดับอาเซียนด้วย

- ข้างนอกมองอาเซียน เน้นไปที่เสาใดเสาหนึ่งหรือเปล่า?

แล้วแต่ประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาเน้นให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคง เน้นให้เขตทะเลจีนใต้เป็นเขตที่สามารถเดินเรือได้โดยเสรี ไม่มีโจรสลัด ไม่มีภัยคุกคาม ไม่มีปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้เข้ามา

อย่างจีนบอกว่าให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องเอฟทีเอ ในระดับอาเซียน แต่จริงๆ แล้วจีนก็มีความสนใจในเรื่องการเมืองด้วย อย่างที่เข้ามามีบทบาทในทะเลจีนใต้และมีข้อขัดแย้งกันพอสมควร 

ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อยากเข้ามาในเรื่องของเศรษฐกิจล้วนๆ เขาเห็นความสำคัญของตลาดอาเซียน เพราะมีสินค้าส่งออกมาในอาเซียนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก 

- ประเทศนอกอาเซียนก็ยังมองเรื่องเศรษฐกิจ?

ครับ ส่วนเรื่องของสังคมนั้นเป็นเรื่องใหม่ อาเซียนเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ เราเพิ่งมีกระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ โดยกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ดูแลเสาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

- กิจกรรมที่ทำกับเยาวชน?

ประเทศไทยเราก็มีการแลกเปลี่ยนเยาวชนไทยกับประเทศบวกสาม เป็นค่ายเยาวชนไทย คือให้เยาวชนไทยกับเยาวชนจีนมาเข้าแคมป์ด้วยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และมีการแลกเปลี่ยนกันต่อไปทางเฟซบุ๊ก 

ตอนนี้ที่ทำ เราคิดธีมขึ้นมา อย่างปีที่แล้วเป็นเรื่องรักธรรมชาติ ไปอยู่ที่เพชรบุรี ไปดูพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ ปีนี้เราให้ความสำคัญเรื่องคอนเนกทิวิตี้หรือการเชื่อมโยง วันที่ 8 สิงหาคม เราจัดกิจกรรมที่กระทรวงต่างประเทศ เชิญนักศึกษาจาก 70 โรงเรียน 140 คน มาตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียน แล้วให้ทุนการศึกษา ซึ่งเราทำทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ปีนี้เราเน้นเรื่องการเชื่อมโยงในอาเซียน 

อีกโครงการที่คือเรื่องการอบรมครู เพราะเราคิดว่าครูสามารถถ่ายทอดต่อไป นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมมือกับสถาบันเทวะวงศ์ ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมของกระทรวงการต่างประเทศ เชิญระดับผู้อำนวยการของหน่วยงานราชการและเอกชน มาเข้าโครงการอบรมของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเราตั้งชื่อย่อว่า นบอ. นักบรรยายอาเซียน รุ่นที่ 1 ให้คนเหล่านี้ที่มาฝึกอบรมกับเรา 1 เดือน จะได้กลับไปถ่ายทอดให้กับหน่วยงานของเขาฟัง ก็เป็นวิธีของเราที่จะปรับปรุงองค์กร เพราะกระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถที่จะไปบรรยายให้กับทุกคนได้ 

- อาเซียนเด่นที่สุดในเวทีโลกขณะนี้? 

ไม่อยากจะพูดว่าเด่นที่สุด เพียงแต่ว่าก็เป็นภูมิภาคที่ทุกคนให้ความสนใจ เนื้อหอมมากในแง่ 1.เป็นจุดเชื่อมระหว่างอินเดียกับจีน 2.เป็นภูมิภาคที่มีศาสนาสำคัญ 3 ศาสนา มีอิสลาม คริสต์ พุทธ 3.เป็นภูมิภาคที่เป็นประเทศสายกลาง คือไม่โดดไปทางขวาหรือซ้าย ไม่ได้รุนแรงหรือไม่ได้อ่อน 

4.เป็นประเทศที่สร้างสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจได้หมดเลย มีประเทศไหนบ้างที่คุยกับรัสเซียได้ คุยกับจีนได้ คุยกับสหรัฐได้ ก็มีแต่อาเซียนเท่านั้น 

- บทบาทของไทยในเวทีอาเซียน?

ไทยเราถือว่ามีบทบาทตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียน ไทยเราเป็นผู้ผลักดัน ซึ่งก่อนหน้าจะมีอาเซียนมีการปะทะกัน เช่น อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ มาเลเซียกับฟิลิปปินส์ แต่อาเซียนเกิดขึ้นมาทำให้บรรยากาศเปลี่ยนเป็นความร่วมมือกัน แม้ว่าจะยังมีการแข่งขันแต่ก็ไม่มีความขัดแย้งกัน 

สิ่งที่เราพยายามผลักดันไม่ว่าเรื่องเขตการค้าอาเซียนเพื่อยกระดับ การลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกก็เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดัน เรื่องของคอนเนกทิวิตี้ เรื่องของการให้ความสำคัญกับภาคสังคม ภาคประชาชน เรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่เราไม่ได้ชูบทบาทว่าเราเป็นที่ 1 อย่างโรดแมปที่สร้างเป็น 3 เสา ก็เป็นเราที่เป็นผู้ผลักดัน ชื่อเต็มของโรดแมป คือ "ชะอำ-หัวหิน โรดแมป" คือก่อตั้งที่ประเทศไทย เราทำตัวให้ไม่เด่น แต่เราเสนอประเด็นที่เด่น อย่างไรก็ตาม ท่าทีนี้เป็นท่าทีที่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการอาเซียนจะเห็นว่าไทยไม่มีบทบาท เราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย และในเวทีต่างประเทศเราก็ไม่มีบทบาท ไม่มีการพูดอะไรที่ออกมาเด่นชัดเหมือนผู้นำบางประเทศ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราเสนอไม่ได้มีอะไรที่ด้อยไปกว่าเขาเลย 

- อีก 2 ปี พม่าจะเป็นประธานอาเซียน?

พม่าถูกคว่ำบาตรมานาน ถ้าไปดูรายได้ต่อหัวแล้ว คนไทยคนหนึ่งจ้างคนพม่าได้ 9 คน รายได้ต่อวันแค่ 30 บาท ดูสถิติการใช้โทรศัพท์มือถือ คนไทย 100 คน มีมือถือ 101 เครื่อง เวียดนามมี 177 เครื่อง พม่ามี 4 เครื่อง การที่เขามาเป็นประชาคมอาเซียนได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ในเมื่อเขามีโอกาสเป็นประธานประชาคมอาเซียน มีโอกาสปฏิรูป เราก็ควรจะสนับสนุนเขาให้เขาเห็นว่าประโยชน์จากการเปิดประเทศเป็นอย่างไร 

ถึงเวลาที่เราจะให้รางวัลกับพม่าแล้ว


หน้า 13,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2555 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346552958

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น