Translate

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

10 ประเทศอาเซียน จับมือต้านยาเสพติด


10 ประเทศอาเซียน จับมือต้านยาเสพติด





ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

รองนายกรัฐมนตรี
การประชุมครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการประชุมในกรอบอาเซียนที่มีความพิเศษแตกต่างไปจากการประชุมอื่นๆ เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อขานรับกับปฏิญญาร่วมของผู้นำประเทศอาเซียนในการเป็นอาเซียนที่ปลอดยาเสพติดในปี พ.ศ.2558 ซึ่งได้รับการรับรองในคราวการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมา

ดังนั้นเพื่อเป็นการผลักดันนโยบายปัญหายาเสพติดให้เป็นวาระของภูมิภาคอย่างแท้จริง ประเทศไทยจึงได้เสนอในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ดังกล่าว ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านยาเสพติด และได้เรียนเชิญรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบดูแลกำกับงานด้านยาเสพติดมาเข้าร่วมประชุม 

ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีอาเซียนทุกท่าน ตลอดจนผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน ที่กรุณาตอบรับคำเชิญและมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เป็นเวลากว่า 14 ปีนับแต่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนได้ประกาศวิสัยทัศน์การเป็นเขตปลอดยาเสพติดอาเซียนภายในปี พ.ศ.2563 และต่อมาเห็นพ้องที่จะเลื่อนปีเป้าหมายของการให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี เป็นปี พ.ศ.2558 ซึ่งตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมานั้น ได้มีการดำเนินการในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง 

สถานการณ์ปัญหายาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มียาเสพติดชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นและเข้ามาแพร่ระบาดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เฮโรอีนกลับกลายเป็นตัวยาทางเลือกเมื่อได้มีการนำมาตรการควบคุมการปลูกฝิ่นมาบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ และนำมาตรการการพัฒนาทางเลือกมาใช้แทนการแพร่ระบาดของเฮโรอีนลดลง

ขณะที่การแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดเอทีเอสเพิ่มมากขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ นอกจากนี้ เมทแอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีนชนิดผลึก หรือที่รู้จักกันดีว่า ไอซ์ กลายเป็นตัวยาที่น่าเป็นห่วงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยาเสพติดจากภายนอกภูมิภาคถูกลักลอบเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนของเรา ขณะที่การลักลอบค้ายาเสพติดบางคดีก็มีส่วนเชื่อมโยงกับอาชญากรรมประเภทอื่นๆ จากนี้ เรามีเวลาเหลืออีกเพียง 3 ปีเท่านั้น ที่เราจะก้าวสู่การเป็นเขตปลอดยาเสพติดอาเซียน 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติดตกลงที่จะนิยามการเป็นอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด ว่าหมายถึง การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถควบคุมปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุขของสังคม จะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ในการเป็นเขตปลอดยาเสพติดอาเซียนได้นั้น เป็นประเด็นที่ท้าทาย รอเราอยู่ข้างหน้า ต่างทำงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเช่นเดียวกัน

ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้รับการแต่งตั้งจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และขณะนี้วาระยาเสพติดดังกล่าวได้รับการยอมรับร่วมกันในฐานะวาระแห่งภูมิภาคที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนทุกท่าน ร่วมกันกวาดล้างขบวนการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้ายาเสพติด ให้หมดไปจากภูมิภาค

เรามีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะต่อสู้กับปัญหายาเสพติดในฐานะอาเซียนที่เป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน โดยเราจะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายเดียวกับการเป็นประชาคมอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงกันในอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity 

นั่นหมายถึง การเปิดพรมแดนเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนในภูมิภาคอย่างเสรี ซึ่งเราควรจะได้ตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบจากการเชื่อมโยงดังกล่าวด้วย 

การสกัดกั้นยาเสพติดบริเวณพรมแดนถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสกัดการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในประเทศ หรือ ออกไปสู่ประเทศที่สาม ไม่เพียงแค่นั้น ยังควรร่วมมือกันในการลดอุปสงค์ยาเสพติดอีกด้วย เพื่ออนาคตของลูกหลานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด ในฐานะรัฐบาลไทย

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะทำงานและสร้างเสริมความเข้มแข็งในความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทุกท่าน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเขตปลอดยาเสพติดอาเซียนให้ได้สำเร็จ

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะมุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดภายในปี 2015 (2558) โดยมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ทุกชาติในภูมิภาคอาเซียนจะร่วมมือกันโดยเน้นการสกัดกั้นยาเสพติดทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค และจะดำเนินการปราบปรามผู้ค้าอย่างจริงจัง พร้อมเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประสานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการอาเซียนสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันเยาวชนรุ่นใหม่ของอาเซียน ไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเน้นย้ำถึงการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอาเซียนปลอดยาเสพติด ในปี 2015 

เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยกำหนดปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และยกระดับสู่วาระแห่งภูมิภาค รวมทั้งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน 

สำหรับในที่ประชุมอาเซียนได้เห็นพ้องถึงปัญหาเรื่องยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ไทยไม่สามารถแก้ไขตามลำพังได้ 

การประชุมวันนี้จึงได้ให้แต่ละประเทศเสนอแผนยุทธศาสตร์ในกรอบใหญ่ รวมทั้งสะท้อนปัญหาของแต่ละประเทศ อย่างเช่นประเทศพม่า ยอมรับว่ามีสถานการณ์ระบาดของยาเสพติดมาก เนื่องจากมีพื้นที่ประเทศกว้างขวาง มีพื้นที่ว่างเปล่าตามแนวชายแดนมาก และมีประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก จึงนำไปสู่การเพาะปลูกพืชที่มีสารตั้งต้นของยาเสพติด 

ทางการพม่าไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง แต่ก็มีความตั้งใจที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยทางประเทศไทยจะร่วมมือให้ความช่วยเหลือโดยการสร้างอาชีพปลูกพืชที่เป็นประโยชน์ทดแทนพืชที่มีสารตั้งต้นของยาเสพติด ตามโครงการแม่ฟ้าหลวง โดยในที่ประชุมได้มีสัญญาใจร่วมกันว่าจะเริ่มปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีให้อาเซียนปลอดยาเสพติดในอีก 3 ปีข้างหน้า 

ถึงแม้ว่าการทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไปเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าทำให้ลดลงได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกหน่วยจะต้องร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง ป.ป.ส.ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะในประเทศ และเฉพาะกลุ่มอาเซียนเท่านั้น ยังมีการประสานงานติดต่อบูรณาการร่วมกันกับประเทศอังกฤษ อเมริกา และประเทศแถบยุโรปหลายประเทศในการร่วมมือกันแก้ปัญหายาเสพติด

ทั้งนี้จากการประชุมสถานการณ์ภาพรวมของยาเสพติด หน่วยงานทุกประเทศมีปัญหาด้านยาเสพติดเหมือนกัน แต่ว่าจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสังคมของแต่ละประเทศ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุขุม โอภาสนิพัทธ์

รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

สถานการณ์ยาเสพติดของทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน มีปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดเหมือนกัน คือยาบ้า และยาไอซ์ ซึ่งประเทศไทยพร้อมสนับสนุนให้การช่วยเหลือทุกเรื่อง เช่น ประเทศลาว และกัมพูชา ได้ประสานขอเจ้าหน้าที่ไทยไปช่วยบำบัดผู้ติดยาเสพติด ส่วนประเทศพม่ามีปัญหาพื้นที่กว้างขวางและคนตกงานจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง จึงเป็นต้นเหตุของการปลูกพืชที่เป็นสารตั้งต้นของยาเสพติด ซึ่งปัญหาทั้งหมดทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันแก้ไข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น