Translate

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดฟ้าส่องโลก หลายเรื่องที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีสู้ by ดร.นิติภูมิ นวรัตน์


หลายเรื่องที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีสู้


พุธ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
พลเมืองของเวียดนามเพิ่มขึ้นทุกปี พ.ศ.2551 มี 85.1 ล้านคน พ.ศ.2553 มี 86.9 ล้านคน ปีที่แล้ว พ.ศ.2554 มี 87.8 ล้านคน ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ผมว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่สองรองจากอินโดนีเซีย ที่จะมีประชากรขึ้นถึงหนึ่งร้อยล้านคน

ความเอาจริงเอาจังทั้งของภาคเอกชนและรัฐบาล ทำให้การค้าระหว่างประเทศของเวียดนามขยายตัว พ.ศ.2554 ขยายตัวมากกว่าปีก่อนถึง 33.3% ความต้องการที่จะขายสินค้าให้มากขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งรัฐเวียดนามลดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารลงเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2554 จากดอลลาร์สหรัฐฯละ 18,932 ดอง เป็น 20,693 ดอง

รายได้ประชาชาติที่เราๆท่านๆ เรียกกันว่าจีดีพีต่อหัวของคนเวียดนามก็ขยับขึ้นทุกปี เมื่อ พ.ศ.2552 ยังอยู่ที่ 1,064 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตอนนี้ขยับมาอยู่ที่ 1,375 ดอลลาร์แล้ว

เราต้องฝึกฝนให้คนไทยของเราพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จากข้อมูลไม่ใช่ใช้ความรู้สึกตัดสินใจอย่างที่ผ่านมา  เมื่อก่อนเราเคยเป็นเจ้าแห่งการผลิตข้าว พอมาถึงวันนี้ เราตกอันดับ ก็ต้องทราบว่าเราตกอันดับเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะประสิทธิภาพของเราด้อยลง รัฐบาลทำงานแย่ลง แต่เพราะประเทศอย่างเวียดนามมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ขยันขึ้น เอาจริงเอาจังต่อการเพิ่มผลผลิตทุกปี อย่างเมื่อ พ.ศ.2553 เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ชาวนาเวียดนามผลิตข้าวได้เฉลี่ย 851.2 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งถือว่าสูงมากแล้ว ได้มากกว่าที่ชาวนาไทยผลิตเยอะ

แทนที่รัฐบาลและชาวนาเวียดนามจะหยุดอยู่แค่นั้น กลับชุมนุมสุมศีรษะคิดกันต่อเรื่องเพิ่มผลผลิต จนเมื่อปีที่แล้วนี่แหละครับ ผลผลิตจากเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงพุ่งสูงไปถึง 884.8 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มจากปีก่อนถึง 33.6 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้ารวมทั้งประเทศ ปีที่แล้ว เวียดนามก็ผลิตข้าวได้เพิ่มจากปีก่อน 2.3 ล้านตัน รวมเป็น 42.3 ล้านตัน

เกษตรกรเวียดนามแตกต่างจากเกษตรกรประเทศอื่นตรงที่ไม่เรียกร้องอะไรจากรัฐบาล ไม่ต้องมีจำนำ ไม่มีประกันราคาข้าว เอาเวลาเหล่านั้นมาคิดเพิ่มผลผลิตดีกว่า พ.ศ.2554 ผลผลิตของสินค้าเกษตรจึงเพิ่มจาก พ.ศ.2553 ทุกตัว อ้อยเพิ่มมา 1.3 ล้านตัน ลิ้นจี่และเงาะเพิ่ม 2 แสนตัน กาแฟเพิ่ม 6.7 หมื่นตัน ยางพาราเพิ่ม 5.9 หมื่นตัน ชาเพิ่ม 5.4 หมื่นตัน ฯลฯ

เวียดนามมีพื้นที่น้อยกว่าเราเยอะ สิ่งที่เวียดนามดีกว่าเรา ก็คือ ไม่มีนายทุนไปกว้านซื้อที่มาเก็บไว้ โดยที่ไม่ได้ใช้ทำการเกษตรอะไรเลย ประเทศไทยต่อไปจะแย่ เพราะพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ไปอยู่ในมือของเศรษฐีและกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ซื้อตุนไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ บางบริษัทมีถึงหนึ่งแสนไร่ ไอ้เรื่องอย่างนี้นี่แหละครับ ที่เกษตรกรควรรวมตัวลุกขึ้นมาต่อสู้ ต่อสู้กับนายทุนตุนที่ดิน ต่อสู้ให้มีภาษีมรดก คนจะได้ไม่แย่งกันสะสมสมบัติไว้มากจนเกินไป

พอพ่อของผมไปเป็นรองประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผมก็เริ่มรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมอะไรเยอะแยะขึ้นครับ เช่น กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จะมีแผนกออกเอกสารสิทธิโดยเฉพาะ รู้กับพวกเจ้าหน้าที่บ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง เอา ส.ค.1 บินบ้าง ส.ค.1 บวมบ้าง นำมาออก น.ส. 3 ก. และขยับไปออกเป็นโฉนดที่ดิน เกษตรกรไทยในพื้นที่รู้ทั้งรู้ว่าทรัพยากรที่ดินในหมู่บ้านตัวเองโดนกระทำย่ำยีเอาไปออกโฉนดอย่างไม่ถูกต้อง ก็ไม่รวมตัวร้องเรียน ไม่รวมตัวกันต่อสู้ แต่ดันมากดดันรัฐบาลในเรื่องอื่นที่ไม่เป็นเรื่อง

นโยบายช่วยเหลือประชาชนมากมายหลายอย่างจะทำไม่ได้เมื่อประชาคมอาเซียนอุบัติขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว วันนั้น ประชาชนคนคุณภาพจากประเทศอื่นที่เก่งกว่าจะไหลไปแย่งงานคนในประเทศที่คนมีคุณภาพด้อยกว่า อย่างเวียดนามตอนนี้มีพลเมือง 87.8 ล้านคน อยู่ในวัยทำงานมากถึง 51.4 ล้านคน (อยู่ในภาคเกษตรกรรม 48% แรงงานอุตสาหกรรมและก่อสร้าง 22.4% และภาคบริการ 29.6%) มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 1.4–2.0 ล้านดองต่อเดือน (67.2–96.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเงินไทยก็ประมาณ 2,000–2,800 บาทต่อเดือน พวกนี้จะไหลมาไทยไม่น้อย

ที่เวียดนาม ตีห้าชาวนาก็ออกมาอยู่ในทุ่งของตัวเองแล้วครับ ตอนเย็นโพล้เพล้แล้ว เกษตรกรยังอยู่ในที่นาตัวเอง ทำงานกันวันละ 12-15 ชั่วโมง ถ้าเป็นลูกจ้างก็ได้รายได้ไม่ถึงครึ่งที่แรงงานไทยได้ในอนาคต เมื่อเปิดเสรีทุกด้าน เปิดกว้างไปเรื่อยๆแล้ว คนขยันกว่า ทำงานได้นานกว่าข้ามาทำมาหากินในบ้านเรา เราจะสู้เขาอย่างไร?

อ่านแล้วอย่าท้อแท้ครับ แต่ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็น “เรื่องที่เราต้องสู้!”
by Dr. Nitipoom Navaratna คอลัมน์ประจำวัน หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น