Translate

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดฟ้าส่องโลก เปิดเสรีภาคการเงินประชาคมอาเซียน by ดร.นิติภูมิ นวรัตน์


เปิดเสรีภาคการเงินประชาคมอาเซียน


จันทร์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๕
จันทร์วันนี้ 08.30-10.30 น. ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ได้รับเชิญจากนางสาวชูศรี อุดมกุศลศรี ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 1 พูด  “ผู้บริหารและครูจะพานักเรียนสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างไร?”  รับใช้ผู้บริหารการศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ 500 คน ที่โรงแรมรอยัลไดมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

ผู้อ่านท่านที่เคารพครับ ทันทีที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2558 ภูมิภาคอาเซียนก็จะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน รวมทั้งเราจะเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นภูมิภาคที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากอาเซียนจะมีการเปิดเสรีภาคการค้าสินค้า บริการ แรงงาน และการลงทุนแล้ว ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “การเปิดเสรีภาคการเงิน” เพราะระบบการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจที่หมุนไปอย่างไวอันนี้ จะทำให้ประเทศไทยไชโยของเราต้องเร่งเตรียมการในการอำนวยความสะดวกด้านการเงิน เพื่อประกอบกิจการด้านการค้า การลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิต เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย

ยุทธศาสตร์ทางการเงินของไทย มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเปิดเสรีภาคการเงิน โดยการปรับปรุงระบบการเงินให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ 1. ระบบการชำระเงินที่เชื่อมต่อกัน 2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น 3. ระบบการให้บริการทางการเงินกับระบบสถาบันการเงิน และ 4. การเปิดเสรีของตลาดทุน

ระบบการชำระเงินนั้น ต่อไปจะเป็นการเชื่อมระบบการชำระเงินของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยง “ระบบการค้าขาย” และ “การใช้จ่าย” ของ 10 ประเทศ หลังจากเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แล้ว ผู้คนจากทั้ง 10 ประเทศก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการข้ามประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบเอทีเอ็มพูลให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน หลังจาก 1 มกราคม 2558 ไปแล้ว ถึงเวลานั้น ผู้อ่านท่านสามารถใช้บัตรใบเดียวกดเอทีเอ็มได้ทุกที่ใน 10 ประเทศอาเซียน

ตอนนี้สิ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาก็คือ ระบบการชำระเงินรองรับการค้า การส่งเงินทุนข้ามประเทศ การชำระค่าบริการรายย่อย การชำระเงินค่าหุ้นและตราสารหนี้ และการพัฒนาระบบการชำระเงินของทุกประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการเปิดเสรีเงินทุนมากขึ้น ตอนนี้ยังเจรจากันอยู่ ผมคิดว่าสุดท้ายก็จะลงเอาอีตรงที่ว่า ทุกประเทศยอมให้เปิดเสรีตามความพร้อมของตัวเองเป็นหลัก ถ้าพร้อมก็เปิด ถ้ายังไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องเปิด
ความมุ่งหวังตั้งใจเบื้องต้นของ 10 ชาติอาเซียนก็คือ เราต้องการให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้เสรีมากขึ้น โดยลดหรือยกเลิกกฎระเบียบมาตรการที่เป็นอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่จะมีการดูแลการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

หลายท่านถามผมว่า 17 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ยอมเลิกใช้เงินสกุลของตัวเอง และหันไปยอมรับนับใช้เงินสกุลยูโร ในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศของเรา มีแนวความคิดในเรื่องเงินสกุลเดียวกันบ้างไหมครับ?

ตอบ ก็เห็นมีคนพูดเรื่องเงินสกุลอาเซียนกันเยอะ แต่ตามความเป็นจริง ยังไม่มีการรวมสกุลเงินอาเซียนเป็นสกุลเดียวกันเหมือนสหภาพยุโรป เพราะเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก ผู้อ่านลองก้มไปดูจีดีพีของอินโดนีเซียซีครับ ตอนนี้กำลังพุ่งกระฉูดส่งตูดจัมโบ้ ใหญ่โตกว่าจีดีพีของลาว 100 เท่า

ผู้อ่านท่านก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาคธนาคารมีความอ่อนไหว อันนี้อาจจะทำให้การเปิดเสรีภาคการเงินหลังจาก 1 มกราคม 2558 จะเป็นแบบ ASEAN-X หมายถึง เปิดเสรีตามความพร้อมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาของระบบสถาบันการเงินของแต่ละประเทศ

ไทยมีแผนที่จะเปิดให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ใหม่แบบเต็มรูปแบบได้ใน พ.ศ.2557 ขณะนี้ธนาคารกลางอาเซียน มีกรอบ “มาตรฐานธนาคารอาเซียน” หรือ Qualified ASEAN Bank (QAB) ซึ่งหากธนาคารใดได้มาตรฐานนี้  จะสามารถทำธุรกิจธนาคารอาเซียนได้ทุกประเทศ จะเริ่มพิจารณาใบอนุญาต QAB ในปี พ.ศ.2557 และเริ่มตั้งธนาคารพาณิชย์จริงในปี พ.ศ.2563

ส่วนการเปิดเสรีด้านตลาดทุน เอาไว้ผมจะกลับมารับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพในโอกาสหน้าครับ.
by Dr. Nitipoom Navaratna  คอลัมน์ประจำวัน  หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น