Translate

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดฟ้าส่องโลก วิสัยทัศน์ของนายกอบจ.อุดรๆ by ดร.นิติภูมิ นวรัตน์


               วิสัยทัศน์อาเซียนของนายก อบจ.อุดรธานี


ศุกร์ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕
ศุกร์คืนนี้ 24.15 น. นายเนติภูมิ นวรัตน์ พี่ชายของผม เสนอเรื่องเอธิโอเปียตอนที่ 2 ในรายการเปิดเลนส์ส่องโลก ท่านใดสนใจไปลงทุนที่เอธิโอเปีย เชิญชมได้ครับ

เสาร์พรุ่งนี้ นายอำนวย ทิพย์กำจร รอง ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2 เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” รับใช้ครูผู้สอนของสถานศึกษาในสังกัด ผู้บริหารและครูวิชาการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล ฯลฯ จำนวน 1,300 คน เวลา 13.00-15.00 น. ที่โรงเรียนอนุบาลจุมพลโพนพิสัย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

พ่อผมได้รับการติดต่อจากนายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี  ให้ไปปรึกษาช่วยสร้าง “หลักสูตรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พันธุ์ไทยในอุดรธานี” เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน จากการสนทนาด้วยวาจาทราบว่านายกฯวิเชียรมุ่งมั่นจะพัฒนาเยาวชนและคนอุดรธานีในปีแรก พ.ศ.2555-2556 ให้ได้มากถึง 5,000-10,000 คน พ่อผมฟังแล้วก็ยอมรับว่านี่เป็นอภิพญามหายอดวิสัยทัศน์ของคนที่เป็นนายก อบจ. ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่สนใจแต่เรื่องขุดสระ ลอกคลอง ทำถนนหนทาง ฯลฯ เพื่อกินเปอร์เซ็นต์ แต่นายกฯวิเชียรไม่ใช่

คุณนิติภูมิถามนายกฯวิเชียรว่า อยากให้มนุษย์พันธุ์ไทยในอุดรธานีมีลักษณะแบบไหน? นายกฯวิเชียรตอบว่า อ้า ผมต้องการมนุษย์พันธุ์ไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ มีภาษาอาเซียนภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นอาวุธลับ และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้รู้ภาษาจีนเพิ่มเติม

“อาจารย์ออกแบบหลักสูตรอบรมให้ผมหน่อย ผมอยากให้คนอุดรธานีปรับตัวทั้งภาษาและวัฒนธรรม ให้สามารถมีทักษะในการทำงาน ทักษะเชิงนวัตกรรม และทักษะในการใช้ชีวิตที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ.2558”

ผู้อ่านท่านครับ ผมมีความเชื่อว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทย และก็ขอทำนายทายทักไว้ล่วงหน้าว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าอาจจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อยู่ไม่รอดในโลกของการเปลี่ยนแปลง

“หลักสูตรที่อาจารย์จะออกแบบให้ ต้องทำให้คนอุดรธานีมีวัฒนธรรมการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มีการสร้างทุนทางปัญญาเพื่อให้อุดรธานีเป็นจังหวัดแห่งการเรียนรู้ ผู้คนที่นี่จะต้องมองอนาคตออก หัวใจของการอบรมที่ผมต้องการก็คือ คุณภาพมนุษย์พันธุ์ไทยอุดรธานีที่มีความสามารถในการแข่งขัน”

ผู้อ่านท่านครับ การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกใบนี้ย่อมมีทั้งผู้ได้เปรียบ และผู้เสียเปรียบ เช่นเดียวกับการที่ประเทศไทยไชโยของเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ย่อมมีผู้เสียเปรียบ หน้าที่ของรัฐบาลไทย และผู้บริหารบ้านเมืองในระดับต่างๆ จะต้องมองให้ออกและบอกให้ได้ว่า “ใครคือกลุ่มผู้เสียเปรียบ” จากการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และจะต้องมีวิสัยทัศน์ล่วงหน้าเพื่อ “ลดปัญหา” ของกลุ่มผู้เสียเปรียบนั้น

“ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดผมมีหน้าที่ดูแลการศึกษาของเยาวชนคนในอุดรธานี บางส่วนของหลักสูตรอบรมที่ผมขอให้อาจารย์ออกแบบให้นั้น จะต้องให้เยาวชนที่นี่รู้ข้ามศาสตร์ สามารถแข่งขัน และมีจิตวิญญาณในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญก็คือ ทำยังไงจะให้เด็กของผมรู้จักการบริหารความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในอาเซียน”

ผู้อ่านท่านผู้เจริญ อย่างหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่นก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันและอยู่รอด มีการเติบโตที่แข่งขันได้ สิ่งที่เยาวชนคนไทยขาดก็คือ การฝึกคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล การคิดนอกกรอบ และการคิดสร้างสรรค์ อย่างผมเองและน้องๆ ก็ได้รับการออกแบบให้เป็นพวกที่มีวิญญาณไทย ใจสากล ตัวตนเทคโนโลยี เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่การฟลุก แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ทำให้เราสามารถจะรู้เรื่องของท้องถิ่น และรู้เรื่องของโลกได้ในเวลาเดียวกัน

77 จังหวัดของประเทศไทยมีการกระดิกพลิกตัวในการพัฒนาต่างกัน บางจังหวัดโชคร้ายได้ผู้ว่าราชการที่ไม่เอาเรื่องเอาราว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนักการเมืองท้องถิ่นระดับอื่นๆ ก็ไม่สนใจไยดีในการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ ท่านที่เดินทางไปทุกตรอกซอกมุมของประเทศ ได้สนทนาปราศรัยกับผู้คนทุกจังหวัดก็คงจะเห็นความแตกต่างระหว่างคนใน 77 จังหวัดนี้เป็นอย่างดี

ขอบคุณนายวิเชียร ขาวขำ ที่ไม่ทิ้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครับ.
by Dr. Nitipoom Navaratna   คอลัมน์ประจำวัน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น