Translate

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดฟ้าส่องโลก ไทยจะเป็นฮับการศึกษาของประชาคมอาเซียน? by ดร.นิติภูมิ นวรัตน์


ไทยจะเป็นฮับการศึกษาของประชาคมอาเซียน?


ศุกร์ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๕
ศุกร์วันนี้ 12.00-13.30 น. บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “เปลี่ยนให้ทัน ปรับให้ไว ก้าวไกลสู่อาเซียน” รับใช้นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเจ้าหน้าที่การบินไทย 300 คน ที่ห้องออดิทอเรียม อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงานใหญ่ฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

เสาร์พรุ่งนี้ 09.00-11.00 น. รอง ผวจ.นครปฐม เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิพูด “ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต่อท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรม” รับใช้ผู้แทนภาคราชการจากกระทรวง หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว ฯลฯ ที่เอกไพลินริเวอร์แคว จ.กาญจนบุรี

อาทิตย์มะรืนนี้ 13.00-14.30 น. บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิพูด “การเตรียมความพร้อมสำหรับการขายประกันชีวิตเพื่อรับการแข่งขัน AEC” รับใช้ผู้บริหารการขาย 200 คน ที่ห้องประชุมบริษัทฯ สาขารัตนาธิเบศร์

เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แล้ว การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการศึกษาก็จะมีขึ้น ทั้งระดับผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ มีคนถามผมว่า แล้วเมืองไทยไชโยของเรามีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไหม? เพราะดูในแง่ของทำเลที่ตั้งแล้ว ไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนประชิดติดกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนมากที่สุด

ขอเรียนว่า เราคงสู้สิงคโปร์และมาเลเซียไม่ได้ ยกเว้นสถาบันการศึกษาที่รักษามาตรฐานสูงไว้ได้อย่างมั่นคงอย่างมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ  ผม รู้จักสถาบันนี้ดี เพราะพ่อเป็นอาจารย์ประจำที่มีมหาวิทยาลัยนี้มายาวนาน นอกจากนั้น ยังเป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ถึง 4 วาระ วาระละ 3 ปี ความที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนจากทั่วโลกเกือบ 100 ประเทศ

มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีมาตรฐานดีอย่างอัสสัมชัญมีนักศึกษาจากทั้ง 10 ประเทศ ตอนนี้มีนักศึกษาพม่าอยู่สามร้อยกว่า เวียดนามร้อยกว่า กัมพูชาและลาวประเทศละเกินสามสิบคน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน ก็มากันครบ และแน่นอนครับ นักศึกษาไทยมีเป็นหมื่น นักศึกษาเหล่านี้ขยับขับเคลื่อนชีวิตทางการศึกษาโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง

เมื่อถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก็มักจะได้คำตอบว่า มาจากความมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำเร็จไปแล้วมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนแย่งตัวไปทำงาน ความที่อัสสัมชัญเป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ตรงกลางเป็นไข่แดงของกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้การเดินทางมาไปไม่นาน ยามปิดเทอม นักศึกษากลับไปเยี่ยมประเทศของตนได้ง่าย ผู้ปกครองอยากจะมาเยี่ยมนักศึกษาของตนก็บินมาได้ง่าย ใช้เวลานิดเดียว

นอกกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกำลังฮอตสุดขีดอยู่ในขณะนี้ก็คือ ติมอร์ตะวันออก ทั้งที่ติมอร์ตะวันออกอยู่ใกล้ออสเตรเลีย แต่กระทรวงศึกษาธิการของติมอร์ตะวันออกกลับคัดนักศึกษาทุนของตัวเองมาเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ความที่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของโปรตุเกส ผู้คนชนติมอร์พูดกันได้แต่ภาษาโปรตุกีสและภาษาตีตัม พวกนี้จึงต้องมาเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเสียก่อน เมื่อสอบผ่านมาตรฐานภาษาอังกฤษแล้ว จึงค่อยเรียนในชั้นปริญญาตรีทางบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และภาษาศาสตร์ ส่วนระดับปริญญาโท พวกติมอร์ตะวันออกฮิตเรียนบริหารธุรกิจ

แม้แต่ประเทศใหญ่อย่างจีนก็สนใจส่งคนของตนมาเรียนในไทย หลักสูตรปริญญาตรี โท เอก ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงมีนักศึกษาจีนเรียนอยู่หลายร้อยคน สิ่งหนึ่งซึ่งประเทศไทยของเราดังมากก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เดือนสิงหาคมที่ผมเขียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพอยู่ในขณะนี้ ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกำลังอบรมข้าราชการจีน 65 คน ในหลักสูตร Academic Training in The Technology and Hospitalities & Tourism Management ให้กับสถาบันของจีน 3 แห่งคือ Tianjin Vocational College, Helongjiang Vocational College และ Daqing Medical College

น้องสาวคนรองจากผม นางสาวบาลาซาน นวรัตน์ สำเร็จชั้นมัธยมด้วยการสอบเทียบวุฒิมัธยมปลายของกระทรวงศึกษาธิการแห่งรัฐเมน สหรัฐอเมริกา ขณะนี้ก็เรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ด้วยความมุ่งหวังเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีคุณภาพ

น้องสาวอีกคน นางสาวจิตการุณ นวรัตน์ สำเร็จชั้นมัธยมด้วยการสอบเทียบวุฒิมัธยมปลายของกระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า IGCSE ก็จะเข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเช่นกัน

ไทยจะเป็นฮับการศึกษาของอาเซียนได้หรือไม่อยู่ที่การรักษามาตรฐานการศึกษา น้องสาวของผม 3 คน พำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่เชื่อมั่นระบบอะไรบางอย่าง ก็ไปกวดวิชาและสอบเทียบมัธยมปลายของต่างประเทศ คนหนึ่งสอบของรัฐบาลอเมริกัน อีกสองคนสอบของรัฐบาลอังกฤษ ใบประกาศนียบัตรมัธยมปลายพวกนี้มีมาตรฐานใช้สมัครเรียนปริญญาตรีได้ทั่วโลก

ถ้าเรามุ่งมั่นให้การศึกษาของไทยได้มาตรฐาน สามารถใช้สมัครงานและเรียนต่อได้ในทุกประเทศในประชาคมอาเซียน ผู้คนก็จะแห่กันเข้ามาเรียนเพื่อให้ได้วุฒิบัตรจากราชอาณาจักรไทย.
by Dr. Nitipoom Navaratna คอลัมน์ประจำวัน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น